จุดหมายในอุดมคติของคนทำงานยุคถัดไป

จุดหมายในอุดมคติของคนทำงานยุคถัดไป

Specialist คือคนที่เก่งเฉพาะด้าน รู้ลึกในกรอบสาขาไม่กี่อย่างที่ตนเชี่ยวชาญ อาจถนัดทำงานเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเล็กไม่กี่คน มีแนวโน้มได้ค่าตอบแทนสูงเพราะหาคนในตลาดแรงงานที่รู้ลึกรู้จริงได้ยาก

 

Generalist คือคนที่เก่งรอบด้าน รู้พื้นฐานกลางๆ แต่ครอบคลุมหลายสาขา อาจถนัดทำงานกับคนหมู่มากได้ มีแนวโน้มได้ค่าตอบแทนต่ำกว่า เพราะคนในตลาดแรงสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งเทียบเท่าได้

 

ทั้ง 2 ประเภท ไม่มีใครดีกว่ากัน แค่มีจุดแข็ง-จุดอ่อนแตกต่างกัน แต่ก็เกิดคำถามว่า…แล้วองค์กรควรต้องการคนแบบไหนมากกว่ากันในยุคนี้?

 

ในมุมคนทำงาน ก็มีความเห็นว่า ทำไมเราต้องเลือกระหว่าง การรู้ลึกชนิดมีแค่ไม่กี่คนในวงการที่ทำได้ VS. การรอบรู้ไปเสียทุกเรื่องขนาดนั้น

 

ทำไมเราไม่ผสานรวม 2 ประเภทนี้ไว้ด้วยกัน?

ความสมดุลใหม่ตรงนี้ นำไปสู่ “อุดมคติ” ที่ว่าถ้ามีส่วนผสมทั้ง Generalist & Specialist ก็น่าจะเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร และไม่ว่าเจอวิกฤติไหนก็น่าจะฝ่าฝันไปได้

 

จึงเกิดกลุ่มคนประเภทใหม่ที่เรียกว่า “Versatilist” ที่ทั้ง “รู้ลึก & รู้กว้าง”

 

Versatilist จุดหมายในอุดมคติของคนทำงานยุคนี้

Versatilist เป็นคำที่ถูกเรียกครั้งแรกจาก Gartner บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้าน IT ชั้นนำของโลก จนเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา

 

Versatilist เป็นคนทำงานประเภทที่ “รู้ลึก & รู้กว้าง” มีประโยชน์หลายมิติ

ตนเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถ “ข้ามสาย” ไปทำความเข้าใจเรื่องอื่นได้อย่างง่ายดายเมื่อจำเป็น มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ปรับตัวเป็นเลิศ เก่งทั้งเทคนิคและผู้คน 


เรียกว่า มีหลายคาแรคเตอร์กลมกล่อมในเวลาเดียวกัน (ได้ทั้ง “บุ๋น และ บู๊”)

ถ้า “เปรียบเปรย” เป็นรูปแบบอสังหาริมทรัพย์

  • Specialist คือ คอนโดสูงระฟ้าที่ใช้ที่ดินเพียงหยิบมือ
  • Generalist คือ หมู่บ้านจัดสรรแนวราบเตี้ยๆ ที่ใช้ที่ดินกว้างขวาง
  • Versatilist คือ โปรเจคท์ Mixed-Used Development ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า…รวมสิ่งอำนวยความสะดวกทุกสรรพสิ่งมาไว้ในที่เดียวกัน ตึกอาจไม่ได้สูงเสียดฟ้าและใช้ที่ดินขนาดกลางๆ

Versatilist ในที่ทำงาน?

บริษัท Gartner เผยว่า อนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กว่า 40% ของคนทำงานด้าน IT จะมีคาแรคเตอร์แบบ Versatilist เดิมที คนกลุ่มนี้จะรับผิดชอบด้านเทคนิคหลังบ้านและมักมีปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้อื่น 

แต่ถึงตอนนั้น พวกเค้าจะก้าวขึ้นมาถกเถียงเชิงนโยบายธุรกิจและมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น การร่วมมือกันทำงานระหว่างทีมจะยิ่งเข้มข้นขึ้น เช่น ทำงานร่วมกับทีม Marketing โดย IT จะเข้าใจกลยุทธ์การตลาดออนไลน์และทักษะการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

เรื่องนี้สอดคล้องกับเทรนด์ทั่วโลก สัดส่วนบริษัทเทคโนโลยีเกิดใหม่กำลังแซงหน้าขึ้นเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในแต่ละประเทศ 

  • Top5 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยี 

 

เทรนด์นี้จะยิ่งชัดเจนในอนาคตอันใกล้ IT ที่ทำในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อาจต้องก้าวขึ้นมาดูแลระบบการชำระเงินของลูกค้าผ่านบิทคอยน์ และระบบ IoT ในห้องลูกบ้าน

 

จะเป็น Versatilist ได้อย่างไร?

ไม่ต่างจากโปรเจคท์ Mixed-Use Development ที่มีข้อจำกัดไม่น้อยในการทำให้สำเร็จ เช่น ใช้เงินลงทุนมหาศาล 

 

เปรียบเปรยกับ Versatilist ก็คือ ต้องเป็นคนที่มีต้นทุนชีวิตที่สูงพอตัวในการได้มาซึ่งทักษะความสามารถ เช่น พูดได้ 5 ภาษา เชี่ยวชาญทั้งการเงิน การตลาด การต่างประเทศ ความสัมพันธ์…ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะได้มา

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีพอแนวคิดอยู่บ้างที่ช่วยให้เรามุ่งหน้าไปสู่การเป็น Versatilist ได้สำเร็จ

 

การมี ”Growth Mindset” ที่เชื่อว่าตัวเองถูกฝึกฝนได้-พัฒนาได้ เพื่อไปสู่บทบาทใหม่ๆ คือด่านแรกในใจที่จะพาเราไปสู่ Versatilist องค์กรปัจจุบันยังให้ความสนใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว คนทำงานต้องมีความใฝ่รู้เสมอ

คนทำงานต้องฝึกคิดแบบ “บูรณาการ” ว่าการกระทำหนึ่งจะส่งผลกระทบไปเรื่องอื่นอย่างไรได้บ้าง เช่น ไม่ใช่แค่ด้านธุรกิจ แต่จะส่งผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์อย่างไรได้บ้าง?

 

หัดเปิดใจรับฟังไอเดียความคิดที่แตกต่าง (หรือแม้แต่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเรา) ซึ่งช่วยขยายมุมมองทัศนคติได้กว้างขึ้น การบูรณาการจะช่วยให้เราคิดรอบด้าน-รอบคอบมากขึ้น

 

การทำความเข้าใจเรื่องหนึ่ง ต้องหมั่นปฏิเสธความ “ผิวเผิน” ของเนื้อหา หัดตั้งคำถามที่นำไปสู่คำถามใหม่ และต้องไม่ลืมความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ค้นหา เช่น เสพบทความวิชาการจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนประเภทไหนก็ตาม Generalist / Specialist / หรือ Versatilist

 

ล้วนต้อง “เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” (Endless learning) เพราะแค่เราหยุดอยู่เฉยๆ ก็ถูกคนอื่นแซงได้แล้ว

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

 

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

 

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

 

อ้างอิง

 

 

#Versatilist #Creativity #ไอเดีย
Writer: CareerVisa Digital