Murphy’s Law: อะไรที่ผิดพลาดได้…มันจะผิดพลาด

Murphy’s Law: อะไรที่ผิดพลาดได้…มันจะผิดพลาด
  • คิดว่างานมั่นคง แต่พอโควิด-19 มา กลับตกงานทันที
  • วันไหนพกร่ม-ฝนไม่ตก…วันไหนไม่ได้พกร่ม-ฝนกลับตก
  • นัดลูกค้าไว้ จึงนั่งรถไฟฟ้าไปหาเพื่อเลี่ยงรถติดและคำนวณเวลาได้ แต่สุดท้าย…รถไฟฟ้าดันขัดข้อง

เรามักคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือความ “ซวย” ที่ตัวเองดันต้องมาเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “Murphy’s Law”

Murphy’s Law อะไรที่สามารถผิดพลาดได้…มันจะผิด

วลีเด็ดของกฎนี้คือ “Anything that can go wrong will go wrong.” อะไรที่ผิดพลาดได้ มันจะผิดพลาด

ต่อไปนี้ เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งที่พบเจอเป็นเรื่อง “โชคร้าย” อาจจะไม่ได้โชคร้ายอย่างที่คิด แต่เพราะมันมี “โอกาสเกิดขึ้นได้จริงๆ” ต่างหาก อาจเป็นปัญหาหรือความผิดพลาดที่คุณประเมินต่ำไปจนประมาทเลินเล่อให้มันเกิดขึ้นในที่สุด

วิกฤติโควิด-19 คือตัวอย่างปัจจุบันที่สะท้อน Murphy’s Law ได้ชัดเจนที่สุด เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อันตราย แพร่ระบาดมาสู่มนุษย์และกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่เดือน

ซึ่งเมื่อมองด้วยเลนส์ของวงการระบาดวิทยา การระบาดของเชื้อไวรัสนี้เกิดขึ้นได้เสมอ (และมนุษย์ควรใช้หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์เป็นปกติด้วยซ้ำ) 

ประเด็นนี้ยังถูกพูดถึงโดย Bill Gates ที่งาน TED Talks ในปี 2015 หลังการระบาดของเชื้ออีโบลา (Ebola) ที่แอฟริกาเมื่อปี 2014 ว่า โลกของเราอาจจะเจอกับการระบาดที่หนักหนาสาหัสกว่านี้อีกในอนาคตอันใกล้ และพวกเรายังไม่พร้อมรับมือกับมันอย่างมีประสิทธิภาพ

Image Cr. bayareane.ws/3rS8BXY

แม้คำเตือนนี้จะถูกกล่าวโดยบุคคลสำคัญระดับโลก-ในงานระดับโลก แต่วงการแพทย์และสาธารณชนทั่วไปก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร มองว่าวิทยาการการแพทย์ปัจจุบันก้าวหน้าไปมากแล้ว ทุกคนเชื่อลึกๆ ว่า “คงไม่น่ามีอะไรมากหรอก”

แต่สุดท้าย…โลกก็ได้รู้จักโควิด-19 ในที่สุด

ที่มาของ Murphy’s Law?

ด้านประวัติ “ชื่อ” ที่มาของกฎนี้มาจากคุณ Edward Murphy วิศวกรประจำ U.S. Air Force

ปี 1949 เทคโนโลยีการบินยังพึ่งตั้งไข่ เขาและทีมจึงทำการทดลองเกี่ยวกับแรงจี (G-Force) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างแรงโน้มถ่วงที่มีต่อผิวหนังกายภาพมนุษย์ 

แต่หัวข้อการทดลองไม่ใช่ประเด็น เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ “ระหว่าง” การทดลอง มักเจอกับความ “ผิดพลาด” ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอยู่ตลอด เดี๋ยวผิดนั่น-เดี๋ยวผิดนี่ จู่ๆ ปัญหานั้นก็โผล่มา…แต่แม้จะผิดพลาดแค่ไหน สุดท้ายการทดลองก็สำเร็จในที่สุด ได้ข้อมูลใหม่ที่นำไปต่อยอดการบินได้

เมื่อ Edward Murphy มองย้อนกลับมา ก็สังเกตว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น จะว่าไปแล้ว…มันก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ นั่นแหล่ะ

ตรงกับวลี “Anything that can go wrong will go wrong.”  ซึ่งเขาพูดขึ้นกลางโต๊ะแถลงข่าว(หลังทดลองเสร็จ) ที่มีสื่อมวลชนมาทำข่าวจนขนานนามว่า Murphy’s Law

ปรับใช้ Murphy’s Law ในธุรกิจ?

ผู้นำองค์กรควรใช้ Murphy’s Law มาเตือนสติตัวเองในการทำธุรกิจอยู่เสมอ 

“คุณอาจ Predict ไม่ได้…แต่คุณ Prepare ได้”

แบ่งทรัพยากรที่มีไปคิดวางแผน Business Continuity Plan หรือแผนฉุกเฉินกรณีเกิดวิกฤติที่ทำให้บริษัทยังคงดำเนินงานต่อได้ไม่ติดขัด และต้องเป็นแผนที่ยืดหยุ่น Flexible มากพอในแง่อำนาจตัดสินใจ / การดำเนินการ / ยืดหยุ่นในระเบียบขั้นตอนต่างๆ

ออกแบบคิดเผื่อสถานการณ์นั้นไว้เลยว่า ถ้ามัน “ดันเกิดขึ้นจริงๆ” จะต้องมี Protocol แผนปฏิบัติการยังไงบ้าง 1-2-3-4 และถ้าเป็นไปได้ บริษัทควรออกแบบแผนการ “ซ้อม” จำลองสถานการณ์จริงไปเลย เพื่อให้พนักงานคุ้นเคยกับขั้นตอนและไม่ตื่นตระหนกถ้ามันดันเกิดขึ้นจริง 

วิธีนี้ช่วยให้กรณีเลวร้ายที่สุดก็แค่ Paranoia (วิตกกังวล) แต่ไม่ถึงกับ Paralysis (อัมพาต)

Murphy’s Law ยังอยู่เบื้องหลังเหตุผลที่ว่าทำไมตึกระฟ้าทุกที่ทั้วโลก ถึงต้องมีการ “ซ้อมหนีไฟ” ประจำปี (จนถูกระบุอยู่ในกฎหมาย)

อย่างไรก็ตาม การวางแผนนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ให้มากที่สุดเช่นกัน มิเช่นนั้นจะตกหลุมพราง Planning Fallacy ที่ว่าอะไรๆ มักไม่เป็นไปตามแผน (เพราะไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยซ่อนเร้นมากพอ)

และปรับใช้กับการทำงานในชีวิตประจำวันได้โดยตรง หัวหน้าทีมควรตระหนักว่าพนักงานทุกคนทำผิดพลาดได้ ไม่มีใครเพอเฟกต์ (ดังคำกล่าว “To err is human.”) ควรปฏิบัติกับความล้มเหลวผิดพลาดที่เจอเป็นเรื่องปกติ เรียนรู้จากมัน หาทางแก้ไข…แล้วไปต่อ

ธุรกิจที่ดีลกับ End customer ลูกค้าปลายทางจำนวนมหาศาล ควรสร้างระบบที่รับเรื่อง Customer complaints ข้อตำหนิต่างๆ จากลูกค้า เพื่อนำมาประเมินและหาทางปรับปรุง จะช่วยลดโอกาสเกิดความผิดพลาดได้

บางครั้งแล้ว…คำด่า ก็มีค่าไม่แพ้ คำชม

สุดท้ายแล้ว ต่อให้ทำทุกวิถีทางแล้วเรื่องไม่คาดฝันยังเกิดขึ้นอยู่ดี อย่างน้อยทุกคนในองค์กรก็สามารถรับมือได้อย่างมี “สติ” นั่นเอง เพราะซ้อมมาแล้ว คิดล่วงหน้าไว้แล้ว ทำใจมาแล้ว…ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

 

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

#Murphy’s Law
Writer: