Single-Cause Fallacy: คิดว่าเกิดจากสาเหตุหลักเดียว จึงมองข้ามสาเหตุอื่น

Single-Cause Fallacy: คิดว่าเกิดจากสาเหตุหลักเดียว จึงมองข้ามสาเหตุอื่น
  • ธุรกิจเจ๊ง เพราะโควิด-19 ล้วนๆ
  • โตเร็วในการงาน เพราะความสามารถตัวเองล้วนๆ
  • สินค้าใหม่ปัง เพราะแพกเกจจิ้งสวยงามแท้ๆ

ถ้าคุณคิดว่ามีแค่ “เหตุผลหลักอันเดียว” ที่นำไปสู่ผลลัพธ์หนึ่ง ระวังให้ดี คุณอาจกำลังติดกับดัก “Single-Cause Fallacy” เข้าให้แล้ว!!

Single-Cause Fallacy: คิดว่าเกิดจากสาเหตุเดียว จึงมองข้ามสาเหตุอื่น

Single-Cause Fallacy คือหลุมพรางทางความคิดที่เรามักโฟกัสมองหา “สาเหตุหลักเพียง 1 อย่าง” ในการอธิบายผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้น 

แต่ละเลยมองข้ามสาเหตุรองอื่นๆ ที่อาจมีมากกว่า 10 อย่าง…จนสุดท้าย ไม่สามารถ “เข้าใจ” ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นำไปสู่การตัดสินใจผิดๆ (มัวแต่โฟกัสสาเหตุหลักตัวเดียว)

ทำไมคนเรามักตกหลุมพราง Single-Cause Fallacy?

  • ถ้าให้เหตุผลมา 10 เราจะแทบจำอะไรไม่ได้เลย
  • ถ้าให้เหตุผลมา 3 เราจะพอนึกออกท่องได้
  • ถ้าให้เหตุผลมา 1 เราแทบจะจำได้ไปตลอดชีวิต

เพราะสมองมนุษย์มีขีดจำกัดในการรับข้อมูลตรงหน้า เราจึงมองหาแพทเทิร์นและรวมกลุ่มก้อนข้อมูลให้เป็นก้อนเดียวเพื่อความง่ายในการจำและสะดวกในการสื่อสารต่อ

โดยเฉพาะปัจจุบัน เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลมหาศาลเหลือเกินแต่เวลาเรามีเท่าเดิม ผู้คนจึงมักต้องการสิ่งที่ “ย่อย” สรุปมาแล้ว ยิ่งกระชับเหลือสั้นๆ ประโยคเดียวได้ยิ่งดี

เมื่อเหล่าผู้บริหารถูกสื่อสัมภาษณ์ พวกเค้ามักถูกถามลักษณะ “Give me one reason…”

  • Give me one reason ทำไมสินค้าใหม่ของแบรนด์ถึงเจ๊งไม่เป็นท่า?
  • Give me one reason ทำไมหน้าที่การงานคุณถึงโตเร็วขนาดนี้?
  • Give me one reason อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณริเริ่มก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา?

ซึ่งในความเป็นจริง ผู้บริหารเหล่านั้นรู้ดีว่า การที่สินค้าเจ๊ง / เติบโตเร็วในการงาน / แรงบันดาลใจที่ก่อตั้งบริษัท…ล้วนมาจาก “ร้อยแปดสาเหตุ” ที่นำไปสู่ผลลัพธ์เช่นนั้น

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับ “ตรรกะ” ความสามารถในการใช้เหตุผลของปัจเจกบุคคลด้วย

  • คิดว่า X ทำให้เกิด Y
  • ถ้าตัด X ทิ้งไป ก็ไม่น่าทำให้เกิด Y

ซึ่งเป็นการรีบด่วนสรุปที่ยังฟันธงไม่ได้ เพราะ A / B / C / D / E ก็ทำให้เกิด Y ได้เช่นกัน

ตัวอย่าง Single-Cause Fallacy รอบตัวเรา

เมื่อมองย้อนกลับไปที่ Hamburger Crisis ปี 2008 หลายฝ่ายพยายามมองหาว่าอะไรคือ “สาเหตุหลัก” ที่นำไปสู่วิกฤตินี้กันแน่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละ “วงการ” ก็มักให้คำตอบที่ตนเองรอบรู้

  • ด้านการเงินบอก นโยบายธนาคารหละหลวมเกินไป
  • ด้านอสังหาฯ บอกเพราะหละหลวมในการตรวจสอบเครดิตผู้กู้เงิน
  • ด้านบริษัทจัดเรตติ้ง บอกเพราะการคอร์รัปชั่นทำให้ของไม่มีคุณภาพล้นตลาด
  • ด้านนักสังคมศาสตร์ ย้อนกลับไปที่แก่นคือ ความโลภไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์

อะไรคือสาเหตุหลักกันแน่? คำตอบคือ ถูกทุกข้อ…ทุกข้อที่กล่าวมาล้วนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

ธุรกิจเจ๊งล้มละลายช่วงโควิด-19?

ใช่ หายนะของโควิด-19 รุนแรงและเป็นที่ประจักษ์พยานจริง ไม่มีใครกล้าเถียง…แต่วิกฤติบริษัทที่เกิดขึ้นมาจากโควิดอย่างเดียวจริงเหรอ? หรือว่ามันมาทำให้เห็น “เนื้อเน่า” ภายในที่มองข้ามมาตลอดด้วยเช่นกัน?

  • โควิดเผยให้เห็นการบริหาร Cash Flow บริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • โควิดเผยให้เห็นว่าบริษัทมีต้นทุนฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นเยอะเกินไป
  • โควิดเผยให้เห็นว่าบริษัทไม่ปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Single-Cause Fallacy ยังหมายถึงเรื่องด้านบวกเช่นกัน สินค้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้มาจาก “คุณภาพ” ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและเหนือกว่าคู่แข่งอย่างเดียว เพราะมันย่อมมาพร้อม ราคาที่เป็นธรรม / ช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุม / แพกเกจจิ้งที่น่าหลงใหล / หรือการโฆษณาที่ซื้อใจผู้คนได้

อีกตัวอย่างคลาสสิคคือการ “สูบบุหรี่” สาธารณชนมักเผลอคิดว่า “บุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด ถ้าเลิกสูบบุหรี่ได้…ก็ไม่มีทางเป็นมะเร็งปอด” (X ทำให้เกิด Y)

แต่ความจริงแล้ว “มะเร็งปอด” มีตัวแปรที่ก่อให้เกิดอีกมากมาย การเดินเท้าข้างถนนที่อบอวลไปด้วยควันพิษจากรถยนต์ ก็เป็นตัวจุดชนวนที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้ไม่แพ้การสูบบุหรี่ (A / B / C ก็ทำให้เกิด Y ได้เช่นกัน)

วิธีป้องกัน Single-Cause Fallacy

โลกเราทุกวันนี้มีความซับซ้อน หลายสิ่งหลายอย่างเชื่อมโยงกัน (Interconnected) เป็นเรื่องเดียวจนแทบแยกแยะไม่ออก ดังนั้น Bottomline ให้คิดไปเลยว่า ไม่มีเหตุผลที่เป็น “พระเอก” แค่อย่างเดียวหรอก แต่ล้วนเกิดจากเหตุผล “ตัวประกอบ” มากมาย

การเปรียบเปรยที่ฝึกเรื่องนี้ได้ดีคือ ให้คิดซะว่ามันเหมือน “สุขภาพร่างกาย” เรารู้ดีว่าการจะมีร่างกายที่แข็งแรง / ฟิตเปรี๊ยะ / อายุยืนยาว ต้องทำหลายต่อหลายอย่าง “ควบคู่” กันไป 

ทั้งออกกำลังกายอย่างถูกวิธี / กินอาหารครบโภชนาการ / สุขภาพจิตภายใน / นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

  • ถ้าออกกำลังกายหนัก แต่กินบุฟเฟ่ต์ทุกวัน…ก็คงไม่ผอม
  • ถ้าคุมอาหารและออกกำลังกาย แต่นอนไม่พอเลย…ร่างกายก็อ่อนเพลียอยู่ดี

ลิสท์เหตุผลที่พอจะเป็นไปได้ (Potential reasons) ทั้งหมดออกมาก่อน อย่าโฟกัสแค่เหตุผลหลัก แต่ให้พิจารณาเหตุผลรองที่มักมีจำนวนเยอะกว่ามากด้วย เมื่อลิสท์ออกมาพอมาก เราจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ (A network of influencing factors) เราจะเห็นภาพใหญ่กระจ่างชัดขึ้น และนั่นอาจนำไปสู่การค้นพบเรื่องใหม่ๆ ที่มองข้ามมาตลอด

อย่างน้อยที่สุดการตระหนักรู้ถึง Single-Cause Fallacy จะทำให้เรามีใจที่ “เปิดกว้าง” พร้อมพิจารณาถึงปัจจัยใหม่ๆ อันหลากหลายและซับซ้อน…ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นอุปนิสัยที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคนี้

 

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

#Single-Cause Fallacy #Logical Fallacy #Business Psychology #Covid-19 #Focus
Writer: