
- นาย A: “ผมว่าการ Work From Home ก็เหมาะกับยุคนี้ดีนะ”
- นาย B: “นี่คิดจะไม่ให้พนักงานได้มาเจอหน้ากันเลยหรือไง? แล้ววัฒนธรรมองค์กรจะสร้างกันยังไง บางครั้งการทำงานมันก็ต้องเจอหน้ากัน คุยซึ่งหน้ากัน มีประสิทธิภาพกว่าเยอะ”
(คุณแค่คิดว่า WFH ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะ WFH ทุกวันซะหน่อย)
บางครั้ง คุณแค่มีประเด็นหนึ่งที่อยากนำเสนอ แต่ประเด็นนั้นมีช่องโหว่ให้อีกฝ่ายนำไปโจมตีชนิดสุดโต่งบานปลาย…นี่คือกลยุทธ์ที่เรียกว่า “Strawman Fallacy”
Strawman Fallacy: หยิบประเด็นมาฟาดจนสุดโต่งเกินไป
Strawman Fallacy เป็นตรรกะวิบัติรูปแบบหนึ่ง ที่จะหยิบ “ช่องโหว่” คำพูดของอีกฝ่าย แล้วเอามาขยายใหญ่แซะโจมตีจน “สุดโต่ง” บานปลาย…จนกลบเกลื่อนข้อดีอื่นๆ หรือราวกับว่าเจ้าตัวพูดถึงแต่จุดอ่อนนั้นๆ
เป็นการสนทนาดีเบตที่ไม่สร้างสรรค์เอาซะเลย เพราะไม่นำไปสู่วิธีแก้ปัญหาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม Strawman Fallacy อาจไม่ใช่ตรรกะวิบัติ(ด้วยความไม่ตั้งใจ) ของอีกฝ่ายเสมอไป กล่าวคือ เป็น “กลยุทธ์” ทับถมจุดอ่อนที่อีกฝ่ายใช้โจมตีคุณ / บิดเบือนความจริง / ทำให้หลงประเด็น / ด้อยค่าเนื้อหาสำคัญที่คุณพูดก่อนหน้า
ทำให้ สาธารณชน-บุคคลที่ 3 มีมุมมองแง่ลบต่อตัวผู้นำ-บริษัทผิดๆ ได้อย่างแนบเนียน
ซึ่งถ้าบางประเด็นที่หลุดพลาดไปและถูกสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ อาจส่งผลเสียต่อองค์กรทันที เช่น ราคาหุ้นร่วงระนาวเพราะความน่าเชื่อถือของนักลงทุนลดลง
ตัวอย่าง Strawman Fallacy รอบตัวเรา
นักสิ่งแวดล้อมรณรงค์เรียกร้องให้มี “สวัสดิภาพของสัตว์” (Animal welfare) ที่ดีกว่านี้โรงงาน แต่กลับถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่า
- จะให้สัตว์มีสิทธิมนุษยชนเหมือนคนเลยไหมล่ะ?
- ต้องใส่เสื้อผ้าแต่งตัวให้มันเลยไหมล่ะ?
- ต่อไปนี้มนุษย์ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ตลอดไปเลยเลยไหมล่ะ?
นักสิ่งแวดล้อมแค่ต้องการให้สัตว์มีชีวิตความเป็นที่อยู่ที่ดีกว่านี้(ก่อนถูกนำไปเชือด) แต่กลับถูกบิดเบือนราวกับว่า คน-สัตว์ ต้องเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกเรื่อง
ในการบริหาร ”งบประมาณ” บริษัท
- นาย A: เรามีปัญหาเรื่อง Customer Service มานาน ฝ่ายนี้จึงควรได้งบเพิ่มเพื่ออัพเกรดระบบใหม่
- นาย B: บริษัทเราล้มละลายแน่ ถ้าโยกงบแทบทั้งหมดไปให้ Customer Service โดยมองข้ามความสำคัญของฝ่ายอื่นๆ
เราจะเห็นว่านาย A แค่อยากได้งบประมาณเพิ่มไปให้ฝ่าย Customer Service แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องจัดสรรงบประมาณแทบทั้งหมดมาให้ฝ่ายนี้ฝ่ายเดียว
ในเวทีถกเถียงนโยบายเศรษฐกิจระดับชาติ
- นักเศรษฐศาสตร์ A กล่าวว่า - สนับสนุนให้ประเทศเราดำเนินรูปแบบ Protectionism ไปก่อน เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ
- แต่ถูกนักเศรษฐศาสตร์ B โจมตีกลับว่า - ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ทุกวันนี้โลกเป็นตลาดเสรีขนาดไหนแล้ว นาย A ตั้งใจจะปิดประเทศไม่คบค้าสมาคมกับใครหรือ?
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ A ไม่ได้บอกว่าต้องใช้ Protectionism ไปตลอดกาล…เพียงแต่ใช้เฉพาะช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศเติบโตแข็งแกร่งพอที่จะออกไปสู้กับทั่วโลกได้ต่างหาก ดังเช่น “เสือเอเชีย” ทั้ง 5 ประเทศที่ล้วนเคยใช้ Protectionism เมื่อหลายทศวรรษก่อนจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
หรือใน “กฎหมายควบคุมสินค้า” บางประเภท
- นาย A: ประเทศเราควรผ่อนปรนกฎหมายผลิตเบียร์
- นาย B: นี่กะจะให้แอลกอฮอล์ของมึนเมาเข้าถึงคนทุกหย่อมหญ้าเลยหรือยังไง กะจะให้เยาวชนดื่มจนเมาไม่เป็นอันเรียนเลยไหม
นาย A แค่ต้องการผ่อนปรนกฎระเบียบเฉยๆ แต่นาย B กลับบิดเบือนราวกับว่า “สามารถเข้าถึงเบียร์โดยไม่มีการหวงห้ามใดๆ”
หรือแม้แต่ด้าน “เพศศึกษา” ในวัยเรียน
- นาย A: “เราคงห้ามเด็กวัยรุ่นให้มีเพศสัมพันธ์กันไม่ได้หรอก มันฝืนธรรมชาติมนุษย์เกินไป ทางที่ดี ควรโปรโมทให้ใช้ถุงยางและให้ความรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้อง”
- นาย B: “อ่าว ตกลงนี่จะสนับสนุนให้เกิด Free Sex หรือยังไง ทุกวันนี้ยังไม่แย่พออีกเหรอ ภาพลักษณ์ประเทศก็เสียหายจะแย่อยู่แล้ว จะสอนเด็กเรื่องนี้ตั้งแต่ชั้นประถมเลยไหมล่ะ?”
นาย A รู้ดีว่าการห้ามวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ วิธีที่เวิร์คกว่าคือ หาวิธีป้องกันและให้ความรู้อย่างถูกต้อง…แต่นาย B กลับบิดเบือนเลยเถิดเป็น Free Sex และทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสีย
วิธีป้องกัน Strawman Fallacy
เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนพูดอธิบายอะไรให้บอกถึง “บริบท” เฉพาะอย่างที่จะพูดถึงเท่านั้น เช่น
- บริบทการเติบโตของ GDP…แต่ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะพูดถึงถัดไป
- บริบทประสิทธิภาพของ WFH…แต่ประเด็นวัฒนธรรมองค์กรจะพูดถึงถัดไป
- บริบทรักษาสิ่งแวดล้อม…แต่ประเด็นต้นทุนบริษัทที่เพิ่มขึ้นจะพูดถึงถัดไป
แม้อาจเป็นเรื่องยากในหลายกรณี แต่ถ้าเราพูดอธิบายโดยมีหลักฐาน-ตัวเลขข้อมูลประกอบ “ครบทุกมิติ” ก็ยากที่จะเปิดช่องโหว่ให้อีกฝ่ายใช้ Strawman Fallacy จนบิดเบือนความจริงได้
ตัวเราเองก็ต้อง “ระวังคำพูด” ให้มากขึ้น เช่น
- แทนที่จะใช้คำว่า “ทุกคน” เปลี่ยนเป็น “บางคน”
- แทนที่จะใช้คำว่า “ส่วนใหญ่” เปลี่ยนเป็น “บางครั้ง”
- แทนที่จะใช้คำว่า “คนจน” เปลี่ยนเป็น “ผู้มีรายได้น้อย”
อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องเล่นบทป้องกันเสมอไป เพราะสามารถหยิบสิ่งที่อีกฝั่งใช้ Strawman Fallacy ย้อนกลับไปโจมตีได้เช่นกัน เป็นการ “เปิดเผย” ว่าอีกฝั่งใช้ Strawman Fallacy อย่างแนบเนียนให้สาธารณชนรับรู้
การมีสติรู้เท่าทัน Strawman Fallacy นอกจากจะทำให้เราป้องกันตัวเองจากคู่กรณีโจมตีได้แล้ว ยังทำให้เราเป็นคนมีตรรกะเหตุผลยอดเยี่ยม จัดระเบียบความคิดได้ดี คิดวิเคราะห์แยกแยะเป็น และคอยเตือนสติตัวเราเองไม่ให้เผลอไปใช้กับคนอื่นเช่นกัน
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง