Job Matching Algorithm

ประเมินตำแหน่ง และบริษัทที่เหมาะสม

  • ข้อมูล 5 ด้านจากบริษัทนายจ้าง
  • ข้อมูล 5 ด้านจากผู้สมัครงาน
  • Machine Learning Algorithm
เริ่มหาอาชีพที่ใช่ ฟรี พบกันเร็วๆ นี้

5-Shade of Life Assessment

แบบประเมินอาชีพที่เหมาะสมใน 5 ด้าน จาก

  • หลักสูตรของ CareerVisa
  • Big Data ของคนทำงานกว่า 40 อาชีพ
  • Machine Learning Algorithm
ประเมินอาชีพ ฟรี

Skill Quiz

แบบประเมินทักษะ

  • พิสูจน์ระดับทักษะให้นายจ้างเชื่อถือ
  • 20 - 30 ข้อ ในแต่ละทักษะ
  • เช่น Excel, Python, Project Management
วัดระดับทักษะ ฟรี

Resume โดดเด่น

โดนใจ HR ใน 6 วินาที

  • รูปแบบหลากหลาย
  • ง่ายด้วยประโยคที่ร่างไว้ให้ล่วงหน้า
  • ดาวน์โหลดเป็น PDF
สร้างเรซูเม่ ฟรี

รวมคลิปสัมภาษณ์ตัวจริงในอาชีพมาแรง

ดูทั้งหมด

บทความทั้งหมด

ดูทั้งหมด
ไอเดียดีๆ อาจใกล้ตัวคุณกว่าที่คิด
ไอเดียดีๆ อาจใกล้ตัวคุณกว่าที่คิด
  • ปุ่มปลดล็อค iPhone มาจาก…ห้องน้ำบนเครื่องบิน
  • การออกแบบชินคันเซ็น มาจาก…นกกระเต็น
  • ดีไซน์ตึกที่ระบายความร้อนได้ดี มาจาก…ปลวก
  • การเขียนชื่อลูกค้าบนถ้วยกาแฟ มาจาก…ชื่อบนเสื้อกีฬา

 

เรามักคิดว่า “ไอเดียแสนบรรเจิด” เกิดจากการนั่งถกเถียงวิเคราะห์อันทรงปัญญาในห้องประชุมที่คับคั่งไปด้วยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์

 

แต่ดังที่เราจะได้รู้กันจากนี้ว่า ความจริงแล้ว “Ideas Are Everywhere.” ไอเดียดีๆ เกิดขึ้นได้รอบตัวเรานี่เอง ตรงนี้เลย เดี๋ยวนี้เลย…ถ้าเรา “สังเกต” มันมากพอ

 

ปุ่มปลดล็อค iPhone

ก่อนที่ iPhone 1 รุ่นแรกจะเปิดตัวเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หนึ่งในฟีเจอร์ที่ยังคิดไม่ออกคือวิธีการ “ปลดล็อค” มือถืออย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว


Freddy Anzures พนักงานของบริษัท Apple ที่อยู่ในทีมพัฒนา กำลังรอคิวเข้าห้องน้ำบนเครื่องบิน เขาเห็น “แถบล็อค” สีแดงตรงหน้าห้องน้ำที่มีผู้ใช้งานอยู่ และเมื่อแถบล็อคเปลี่ยนเป็นสีเขียว คนที่เข้าห้องน้ำเสร็จก็เดินออกมา

ทันใดนั้น เขาเกิด “ยูเรก้า” ทันที และนำไอเดียแถบล็อคห้องน้ำในเครื่องบินมาเป็นปุ่ม “Slide to Unlock” จากซ้ายไปขวาบน iPhone ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดและใช้งานอยู่นับสิบปี (ก่อนเปลี่ยนมาสแกนหน้าตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น)

ชื่อลูกค้าบนถ้วย Starbucks

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว บาริสต้าของ Starbucks คนหนึ่ง สังเกตว่า มูลค่าแฝงของเสื้อกีฬาส่วนหนึ่งมาจาก “ชื่อ” ที่ประทับอยู่ด้านหลังของเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวเอง หรือ ชื่อนักกีฬาที่ชื่นชอบ (เช่น Ronaldo 7)


เขาจึงเกิดไอเดียเล่นๆ โดยการ “เขียนชื่อลูกค้า” ลงบนถ้วย Starbucks เวลาสั่งเครื่องดื่ม และพบว่ามันเป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี เรียบง่าย และแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย

บาริสต้าคนนี้ ลองไปเสนอไอเดียแก่บริษัท พบว่าผู้บริหารชอบใจจนซื้อไอเดียนี้ และได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของบริษัทตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา

 

เป็นการสร้างความผูกพันที่มีเอกลักษณ์ ลดการหยิบแก้วผิดเพราะมีชื่อเขียนอยู่ แถมได้ Free Media ที่คาดไม่ถึงจาก “ชื่อที่สะกดผิด” จนลูกค้าเอาไปโพสขำขันกัน

 

รถไฟความเร็วสูง Shinkansen

การสังเกตและเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry) ยังเป็นวัตถุดิบความคิดสร้างสรรค์ชั้นดี จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Biologically-inspired Engineering” วิศวกรรมที่ถอดแบบมาจากกลการทำงานของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ

 

ปี 1989 รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นของญี่ปุ่น เจอปัญหาหนึ่งที่ไม่แก้ตกนั่นคือ คลื่นเสียง “Sonic Boom” ที่ดังระเบิดเวลาแล่นออกจากอุโมงค์ด้วยความเร็วสูง จนเสียงดังไปไกลทั่วรัศมีถึง 400 เมตร สร้างความเดือดร้อนและกระทบการใช้ชีวิตของผู้คนโดยรอบ (อุโมงค์มีอยู่ทั่วประเทศ)

 

คุณ Eiji Nakatsu หัวหน้าวิศวกรได้รับหน้าที่ให้แก้ปัญหานี้ แต่คิดคำนวณเท่าไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ซะที มาวันหนึ่ง เขาคลายเครียดด้วยการทำงานอดิเรกประจำนั่นคือการไป “ชมนก”

 

ก่อนจะสังเกตเห็น นกกระเต็น (Kingfisher) ที่มีปากแหลมเฟี้ยว บินด้วยความเร็วสูง และโฉบปลาได้อย่างแม่นยำ แรงบันดาลใจจากนกกระเต็นนี้ถูกนำไปทดลองขึ้นโครงสร้างส่วนหน้าสุดของชินคันเซ็น และพบว่าแก้ปัญหา Sonic Boom ที่ดังเกินไปได้สำเร็จ

ปี 1997 ชินคันเซ็นรุ่น 500-Series เปิดให้บริการแก่สาธารณชน และเป็นรุ่นแรกที่ได้แรงบันดาลใจส่วนต่างๆ มาจากนกกระเต็น 

  • เร็วกว่าเดิม 10%
  • ใช้ไฟฟ้าน้อยลง 15%
  • เสียงดังต่ำกว่ามาตรฐาน 70 เดซิเบล

Image Cr. bit.ly/391fi1l

หลังจากนั้น ชินคันเซ็นรุ่นใหม่ต่อๆ ไปยังใช้แรงบันดาลใจที่มาจากธรรมชาติ เช่น แหนบรับไฟ (Pantograph) ที่ติดตั้งบนหลังคาของตู้รถไฟ

Portcullis House อาคารระบายความร้อนใจกลางลอนดอน

การเลียนแบบธรรมชาติยังใช้ได้กับตึกอาคาร ที่ชัดเจนมากคืออาคาร Portcullis House ใจกลางกรุงลอนดอน ที่นำหลักการระบายความร้อนมาจากเนินรังของ “จอมปลวก” กลางทะเลทรายซึ่งมีพื้นที่ผิวต่อปริมาตรสูง 

เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดี รังจอมปลวกจะสร้างเพลาหลายๆ อันที่ทอดลงไปยังห้องใต้ดินที่อยู่ใต้รัง ส่วนเนินดินด้านบนจะสร้างเป็นลักษณะ “ปล่องไฟ” ถี่ๆ เพื่อระบายความร้อน เราจะเห็นว่าโครงสร้างภายนอกและภายในของตึก Portcullis House มีลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมด

Image Cr. bit.ly/2XhQUq5

Sir Isaac Newton กับแอปเปิ้ลที่ร่วงลงพื้น

สุดท้ายแล้วกลับไปที่ตัวอย่างสุดคลาสสิกอย่าง Sir Isaac Newton ที่นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล แล้วเพียงเห็นแอปเปิ้ล “ร่วงลงพื้น” นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “แรง” หรือพลังงานอะไร ที่อยู่เบื้องหลังทำให้แอปเปิ้ลมันร่วงลงพื้นได้

 

ความช่างสงสัยในวันนั้น นำไปสู่การค้นพบ “แรงโน้มถ่วง” (Gravitational force) ที่มีอยู่ทุกที่ทั่วจักรวาล ซึ่งปูทางไปสู่ศาสตร์ใหม่ๆ ในยุคต่อมา เช่น ฟิสิกส์

 

Mindset ที่พร้อมรับไอเดียใหม่ๆ?

ทำตัวเป็นคน “ช่างสังเกต” อย่าปล่อยผ่านอะไรให้หลุดมือไปง่ายๆ แต่ลองขบคิดและวิเคราะห์หา “แพทเทิร์น” ของสิ่งต่างๆ เช่น แถบล็อคห้องน้ำบนเครื่องบิน ก็ถูกนำมาใช้กับนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่าง iPhone ได้เช่นกัน

เราสามารถฝึกวิเคราะห์ “เหตุผลของธรรมชาติ” จากสัตว์ต่างๆ เพราะสัตว์ทุกชนิดมีโครงสร้างร่างกายแตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการต่อพันธุกรรมในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน 

  • ทำไมนกกระเต็นต้องมีปากแหลมเฟี้ยว?
  • ทำไมรังจอมปลวกถึงมีรูพรุนและชั้นบนมีปล่องเยอะ?

.

.

ลองทำแบบฝึกหัดโดยการหยิบยก “สิ่งธรรมดา” มาอย่างหนึ่งและขบคิดอย่างลึกซึ้ง มันอาจไม่นำไปสู่ไอเดียในท้ายที่สุด แต่จะช่วยลับคมความคิดของเราได้มากขึ้น และใครจะไปรู้ว่า ชื่อบนเสื้อกีฬาด้านหลัง จะกลายมาเป็นวัฒนธรรมเขียนชื่อบนถ้วยกาแฟ Starbucks ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกถึงทุกวันนี้

 

Ideas Are Everywhere. ประโยคนี้เป็นความจริงเสมอสำหรับผู้ที่มองเห็นมัน…เช่นคุณ

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

 

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

 

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

 

อ้างอิง

 

Tag: Ideas Are Everywhere, Creativity

 

 

อ่านต่อ
จุดหมายในอุดมคติของคนทำงานยุคถัดไป
จุดหมายในอุดมคติของคนทำงานยุคถัดไป

Specialist คือคนที่เก่งเฉพาะด้าน รู้ลึกในกรอบสาขาไม่กี่อย่างที่ตนเชี่ยวชาญ อาจถนัดทำงานเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเล็กไม่กี่คน มีแนวโน้มได้ค่าตอบแทนสูงเพราะหาคนในตลาดแรงงานที่รู้ลึกรู้จริงได้ยาก

 

Generalist คือคนที่เก่งรอบด้าน รู้พื้นฐานกลางๆ แต่ครอบคลุมหลายสาขา อาจถนัดทำงานกับคนหมู่มากได้ มีแนวโน้มได้ค่าตอบแทนต่ำกว่า เพราะคนในตลาดแรงสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งเทียบเท่าได้

 

ทั้ง 2 ประเภท ไม่มีใครดีกว่ากัน แค่มีจุดแข็ง-จุดอ่อนแตกต่างกัน แต่ก็เกิดคำถามว่า…แล้วองค์กรควรต้องการคนแบบไหนมากกว่ากันในยุคนี้?

 

ในมุมคนทำงาน ก็มีความเห็นว่า ทำไมเราต้องเลือกระหว่าง การรู้ลึกชนิดมีแค่ไม่กี่คนในวงการที่ทำได้ VS. การรอบรู้ไปเสียทุกเรื่องขนาดนั้น

 

ทำไมเราไม่ผสานรวม 2 ประเภทนี้ไว้ด้วยกัน?

ความสมดุลใหม่ตรงนี้ นำไปสู่ “อุดมคติ” ที่ว่าถ้ามีส่วนผสมทั้ง Generalist & Specialist ก็น่าจะเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร และไม่ว่าเจอวิกฤติไหนก็น่าจะฝ่าฝันไปได้

 

จึงเกิดกลุ่มคนประเภทใหม่ที่เรียกว่า “Versatilist” ที่ทั้ง “รู้ลึก & รู้กว้าง”

 

Versatilist จุดหมายในอุดมคติของคนทำงานยุคนี้

Versatilist เป็นคำที่ถูกเรียกครั้งแรกจาก Gartner บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้าน IT ชั้นนำของโลก จนเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา

 

Versatilist เป็นคนทำงานประเภทที่ “รู้ลึก & รู้กว้าง” มีประโยชน์หลายมิติ

ตนเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถ “ข้ามสาย” ไปทำความเข้าใจเรื่องอื่นได้อย่างง่ายดายเมื่อจำเป็น มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ปรับตัวเป็นเลิศ เก่งทั้งเทคนิคและผู้คน 


เรียกว่า มีหลายคาแรคเตอร์กลมกล่อมในเวลาเดียวกัน (ได้ทั้ง “บุ๋น และ บู๊”)

ถ้า “เปรียบเปรย” เป็นรูปแบบอสังหาริมทรัพย์

  • Specialist คือ คอนโดสูงระฟ้าที่ใช้ที่ดินเพียงหยิบมือ
  • Generalist คือ หมู่บ้านจัดสรรแนวราบเตี้ยๆ ที่ใช้ที่ดินกว้างขวาง
  • Versatilist คือ โปรเจคท์ Mixed-Used Development ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า…รวมสิ่งอำนวยความสะดวกทุกสรรพสิ่งมาไว้ในที่เดียวกัน ตึกอาจไม่ได้สูงเสียดฟ้าและใช้ที่ดินขนาดกลางๆ

Versatilist ในที่ทำงาน?

บริษัท Gartner เผยว่า อนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กว่า 40% ของคนทำงานด้าน IT จะมีคาแรคเตอร์แบบ Versatilist เดิมที คนกลุ่มนี้จะรับผิดชอบด้านเทคนิคหลังบ้านและมักมีปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้อื่น 

แต่ถึงตอนนั้น พวกเค้าจะก้าวขึ้นมาถกเถียงเชิงนโยบายธุรกิจและมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น การร่วมมือกันทำงานระหว่างทีมจะยิ่งเข้มข้นขึ้น เช่น ทำงานร่วมกับทีม Marketing โดย IT จะเข้าใจกลยุทธ์การตลาดออนไลน์และทักษะการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

เรื่องนี้สอดคล้องกับเทรนด์ทั่วโลก สัดส่วนบริษัทเทคโนโลยีเกิดใหม่กำลังแซงหน้าขึ้นเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในแต่ละประเทศ 

  • Top5 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยี 

 

เทรนด์นี้จะยิ่งชัดเจนในอนาคตอันใกล้ IT ที่ทำในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อาจต้องก้าวขึ้นมาดูแลระบบการชำระเงินของลูกค้าผ่านบิทคอยน์ และระบบ IoT ในห้องลูกบ้าน

 

จะเป็น Versatilist ได้อย่างไร?

ไม่ต่างจากโปรเจคท์ Mixed-Use Development ที่มีข้อจำกัดไม่น้อยในการทำให้สำเร็จ เช่น ใช้เงินลงทุนมหาศาล 

 

เปรียบเปรยกับ Versatilist ก็คือ ต้องเป็นคนที่มีต้นทุนชีวิตที่สูงพอตัวในการได้มาซึ่งทักษะความสามารถ เช่น พูดได้ 5 ภาษา เชี่ยวชาญทั้งการเงิน การตลาด การต่างประเทศ ความสัมพันธ์…ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะได้มา

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีพอแนวคิดอยู่บ้างที่ช่วยให้เรามุ่งหน้าไปสู่การเป็น Versatilist ได้สำเร็จ

 

การมี ”Growth Mindset” ที่เชื่อว่าตัวเองถูกฝึกฝนได้-พัฒนาได้ เพื่อไปสู่บทบาทใหม่ๆ คือด่านแรกในใจที่จะพาเราไปสู่ Versatilist องค์กรปัจจุบันยังให้ความสนใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว คนทำงานต้องมีความใฝ่รู้เสมอ

คนทำงานต้องฝึกคิดแบบ “บูรณาการ” ว่าการกระทำหนึ่งจะส่งผลกระทบไปเรื่องอื่นอย่างไรได้บ้าง เช่น ไม่ใช่แค่ด้านธุรกิจ แต่จะส่งผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์อย่างไรได้บ้าง?

 

หัดเปิดใจรับฟังไอเดียความคิดที่แตกต่าง (หรือแม้แต่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเรา) ซึ่งช่วยขยายมุมมองทัศนคติได้กว้างขึ้น การบูรณาการจะช่วยให้เราคิดรอบด้าน-รอบคอบมากขึ้น

 

การทำความเข้าใจเรื่องหนึ่ง ต้องหมั่นปฏิเสธความ “ผิวเผิน” ของเนื้อหา หัดตั้งคำถามที่นำไปสู่คำถามใหม่ และต้องไม่ลืมความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ค้นหา เช่น เสพบทความวิชาการจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนประเภทไหนก็ตาม Generalist / Specialist / หรือ Versatilist

 

ล้วนต้อง “เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” (Endless learning) เพราะแค่เราหยุดอยู่เฉยๆ ก็ถูกคนอื่นแซงได้แล้ว

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

 

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

 

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

 

อ้างอิง

 

 

อ่านต่อ
LEGO ปั้นองค์กรอย่างไร? ของเล่นเด็กที่อยู่รอดท่ามกลางโลกไฮเทค
LEGO ปั้นองค์กรอย่างไร? ของเล่นเด็กที่อยู่รอดท่ามกลางโลกไฮเทค
  • LEGO เป็นผู้ผลิตของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ปี 2020 รายได้ 225,000 ล้านบาท กำไร 50,660 ล้านบาท
  • ส่งมอบจินตนาการในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก

เป็นของเล่นที่ประทับใจอยู่ในความทรงจำวัยเด็กของพวกเรา และยังอยู่รอดท่ามกลางเกมออนไลน์ของโลกยุคใหม่ได้อย่างสง่างาม

LEGO มีวิธีปั้นองค์กรอย่างไรกันแน่?

จุดเริ่มต้นแสนเรียบง่าย

ปี 1932 ณ ประเทศเดนมาร์ก คุณ Ole Kirk Christiansen เป็นช่างไม้ที่ใช้เวลาว่างนำเศษไม้เหลือมาประดิษฐ์ประดอยเป็นสิ่งของต่างๆ นี่คือทักษะพื้นฐานสำคัญที่ในปีเดียวกันนั้น เขาได้ก่อตั้งโรงงานผลิตของเล่นตัวต่อที่ชื่อว่า “LEGO” ขึ้นมา โดยโฟกัสที่ตึกอาคารและเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน

ต่อมา โรงงานผลิตตัวต่อที่ทำด้วยไม้เกิด “ไฟไหม้ใหญ่” จนวอดวาย นี่คือจุดพลิกผันที่ต่อมาเขาเปลี่ยนจากเลโก้ที่ทำด้วยไม้ ค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนเป็นพลาสติกทั้งหมด ซึ่งมีข้อดีในระยะยาวกว่าแบบไม้ เช่น

  • เหมาะกับการผลิตปริมาณมากๆ เชิงอุตสาหกรรม
  • ออกแบบให้มีสีสันได้หลากหลายกว่า
  • อายุคงทน ยืนยาวกว่า ปลอดภัยกว่า
  • น้ำหนักเบากว่า บรรจุและขนส่งง่ายกว่า

เมื่อตัวต่อมีความยืดหยุ่นในการออกแบบขึ้น เขาได้สร้างเลโก้รูปคนที่ต่อมาเรียกว่า “Minifigure” ในรูปลักษณ์หน้าตา ยูนิฟอร์ม และอาชีพอันหลากหลาย เช่น หมอ / ตำรวจ / วิศวกร / นักธุรกิจ / โจรผู้ร้าย / อัศวิน / คาวบอย…ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา มีคาแรคเตอร์ มีเรื่องราวเกิดขึ้น พร้อมๆ กับออกแบบ “กลไก” ที่ทำให้ต่อได้หลากหลายแบบ (ไม่ง่ายเกิน แต่ก็ไม่ยากเกิน)

Image Cr. https://bit.ly/3gUSpRH

เมื่อกลไกมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มาผสานกับเรื่องราวจินตนาการไม่รู้จบ LEGO จึงเข้าไปอยู่ในใจเด็กน้อยผู้เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความอยากรู้อยากเห็นได้ไม่ยาก

นี่คือพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ LEGO ที่ต่อมาประสบความสำเร็จจนเติบโตขยายไปทั่วโลก ขึ้นแท่นแบรนด์ผู้ผลิตของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับความนิยมถึงขนาดที่ว่า “เลโก้” กลายเป็นคำเรียก “ตัวต่อ” ไปแล้ว

ผลิตภัณฑ์เพื่อครอบครัว

วิสัยทัศน์ผู้ก่อตั้งได้คิดสโลแกนว่า “Only the best is good enough.” เพื่อยึดมั่นในการส่งมอบคุณภาพที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า และเป็นอิทธิพลจากอาชีพช่างฝีมือ (ช่างไม้) ที่จะต้องมีความพิถีพิถันละเมียดละไมในทุกรายละเอียด

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบ “Family Experience” วางจุดยืนและออกแบบสินค้าให้เหมาะกับการเป็น “กิจกรรมสำหรับครอบครัว” ที่สะท้อนไปยังเรื่อง

  • องค์ประกอบเลโก้ที่หลากหลาย (ช่วยกันต่อ)
  • ความซับซ้อนที่มากขึ้น (พ่อแม่ได้สอนลูกต่อ)

เพราะในยุคแรก เด็กอาจคือผู้ต้องการเลโก้ แต่เป็นพ่อแม่ที่ออกเงิน เมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญของเลโก้และตัวเองสามารถมีส่วนร่วมใช้เวลากับลูกๆ ได้ (แถมสินค้าคุณภาพดี เล่นแล้วปลอดภัย) ยิ่งน่าดึงดูดให้ซื้อเข้าไปใหญ่

Partnership

อีกก้าวกระโดดสำคัญของ LEGO คือการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีตัวละครโด่งดังระดับโลก เช่น Star Wars / Marvel / Jurassic Park และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากเรื่องจินตนาการที่นำฮีโร่ในใจออกมาสู่นอกจอแบบ “จับต้องได้” แล้ว ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ใหญ่ขึ้นมหาศาล (แค่แฟนๆ ผู้คลั่งไคล้ Star Wars ก็มีอยู่ทั่วโลกแล้ว) โดยธีม Star Wars ติดอันดับขายดีที่สุดตลอดกาลของ LEGO

จากเดิม ความต้องการเกิดจากเด็กเรียกร้องให้พ่อแม่ซื้อ แต่ตอนนี้ กลายเป็นผู้ใหญ่ซื้อมาต่อเอง หรือ ซื้อมาแล้วโน้มน้าว-แนะนำให้ลูกๆ รู้จักแทน (พ่อชอบ Star Wars ก็มักอยากให้ลูกชอบ Star Wars ด้วย)

พร้อมแตกแขนงรูปแบบตัวต่อเพื่อสร้างยอดขายเพิ่ม อย่างการทำ Minifigure ของตัวละครดังๆ แยกออกมาต่างหาก เช่น เซ็ท Captain America / Ironman / Superman / Hulk / Mario / Jack Sparrow

นอกจากนี้ยังได้จับมือกับสถาบันต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ด้วย เช่น จับมือกับ NASA 

ชุดตัวต่อเลโก้ NASA จะให้ความรู้พื้นฐานด้านจักรวาล / ดาราศาสตร์ / กระสวยอวกาศ / สถานีอวกาศ / ดาวเทียม ฯลฯ ซึ่งจะกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ให้อยากศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป

ยอมรับความผิดพลาด

จากความสำเร็จของตัวต่อเลโก้ และจากโมเดลความสำเร็จของ Disneyland (จากในจอ สู่นอกจอสร้างสวนสนุก)

บริษัทได้ต่อยอดสู่จินตนาการที่ไม่ใช่แค่จับต้องได้ แต่ราวกับมีอยู่จริงรอบตัว ณ สวนสนุก “Legoland” ซึ่งสร้างกระแสตอบรับที่ดีมากในช่วงทศวรรษแรก แต่ในเวลาต่อมา ระยะยาวความนิยมลดน้อยลงต่อเนื่อง รายได้ไม่เพียงพอต่อต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้ตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง

Image Cr. bit.ly/3kG2a7m

สุดท้าย บริษัทยอมรับความผิดพลาด ปิด Legoland สาขาที่ไม่ทำกำไร ยุติการขยายสาขา หรือปรับปรุงแผนเดิมที่จะเปิดเพิ่มโดยลดสเกลขนาดสวนลงมา ในภาพรวม LEGO กลับไปโฟกัสธุรกิจส่วนที่ตัวเองถนัดนั่นก็คือตัวต่อเลโก้ดั้งเดิม

User-Generated Imagination

เมื่อก่อน นักออกแบบของบริษัทจะเป็นคนคิดค้นและนำเสนอให้ลูกค้า แต่ในยุคที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย LEGO จึงได้สร้าง “แพลตฟอร์ม” ของตัวเองขึ้นมาและให้ลูกค้าเข้ามาเสนอแชร์ไอเดียเลโก้ใหม่ๆ มีการโหวตให้คะแนนความนิยม ไอเดียนั้นชนะจะนำไปผลิตจริง (และมีดีมานต์จริงรองรับอยู่)

LEGO ยังได้ลงทุนในโซเชียลมีเดีย แอปที่เชื่อมโยงโลกออนไลน์-ออฟไลน์ เว็ปไซต์ของตัวเอง ระบบออนไลน์อื่นๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ทุกช่องทาง

พร้อมๆ กับการทยอยปรับปรุง LEGO Store ที่มีอยู่กว่า 680 สาขาทั่วโลก ให้มีดีไซน์ทันสมัยขึ้น ลูกค้าเข้ามาแล้วสัมผัสได้ถึง “ประสบการณ์” ภายในร้าน

The LEGO Movie

ปี 2014 LEGO ได้กระโดดเข้าสู่วัฒนธรรม Pop Culture ที่เข้าถึงคนหมู่มากและหลากหลายกลุ่มมากขึ้น โดยออกฉายหนังแอนิเมชั่น “The LEGO Movie” ที่บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัย มิตรภาพ และมุขตลกขำขัน

องค์ประกอบฉากในหนังส่วนใหญ่ถอดแบบมาจากเลโก้ที่มีอยู่จริงทั้งหมด และนำเสนอ “ตัวละคร” ที่ทาง LEGO ไปจับมือเป็นพันธมิตร เช่น Batman / Superman / นินจาเต่า / และอีกมากมาย

แน่นอนว่า เด็กๆ จะได้เพลิดเพลินไปกับเลโก้ที่ตนรักโลดแล่นบนจอ

และผู้ใหญ่ก็ดูดี...สร้างความคิดถึงวัยเยาว์ ปลุกความเป็นเด็กที่หลับใหลอยู่ในตัวผู้ใหญ่ทุกคน

คุณค่าโลกสมัยใหม่

LEGO ถือเป็นบริษัทเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี เริ่มในต้นศตวรรษที่ 20 จนมาสู่ศตวรรษที่ 21 เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คุณค่าใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นตามมา และ LEGO ไม่ลืมที่จะนำเสนอคุณค่าดีๆ เหล่านั้น ในฐานะที่เป็นบริษัทใหญ่มี “อิทธิพล” ต่อความคิดเด็กและผู้คนทั่วโลก เช่น

Diversity – เมื่อก่อนตัวต่อเลโก้ที่เป็นคน มักถอดแบบรูปลักษณ์มาจากฝรั่งผิวขาวเกือบทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้มีแทบทุกเชื้อชาติแล้ว และมาในเครื่องแบบอาชีพที่หลากหลาย (ผู้หญิงก็เป็นวิศวกรได้)

Inclusivity - มีการแสดงออกที่ยอมรับในความหลากหลายทางกายภาพ เช่น มีเลโก้ที่เป็นผู้พิการนั่งวีลแชร์ ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น มาพร้อมโลโก้ที่จอดรถผู้พิการ (Priority parking)

Image Cr. bit.ly/3mXchaK

Sustainability – ทุ่มงบกว่า 13,000 ล้านบาททยอยเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ยั่งยืนทั้งหมดภายในปี 2030 เช่น ใช้พลาสติกชีวภาพจากต้นอ้อยมาผลิตเลโก้ หรือ เปลี่ยนแพกเกจจิ้งจากถุงพลาสติกเป็นถุงกระดาษ                                                                                                              และยังมี “ตัวต่อรักษ์โลก” ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลซึ่งจะออกวางจำหน่ายภายในปี 2022                                                               

ทั้งหมดนี้ LEGO จึงไม่ใช่แค่บริษัทขายของเล่นตัวต่ออีกต่อไป แต่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ฝึกทักษะ พื้นที่ให้จินตนาการได้โลดแล่น กิจกรรมในการสร้างความสัมพันธ์ พร้อมๆ กับโปรโมทคุณค่าที่ดีงามของโลกยุคใหม่ 

 

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

 

อ่านต่อ

Our Partners